วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สถานที่ท่อเที่ยว

พระบรมมหาราชวัง

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างขึ้นพร้อมสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อแรกสร้างประกอบด้วย ๓ ส่วนคือ พระมหาปราสาท พระราชมณเฑียรสถาน และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีเนื้อที่ ๑๓๒ ไร่ ในอดีตพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ลักษณะแบบแผนการก่อสร้างคล้ายคลึงกับพระบรมมหาราชวังเก่าในสมัยกรุง ศรีอยุธยาคือ มีวัดพระศรีรัตนศาสดารามอยู่ในบริเวณวังเหมือนกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ในสมัย กรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ เริ่มรับอิทธิพลจากตะวันตกทำให้สถาปัตยกรรมมีลักษณะผสมผสานกับทางตะวันตกมาก ขึ้น หมู่พระที่นั่งที่สำคัญมีดังนี้คือ

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
เดิมชื่อพระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาท เป็นพระมหาปราสาทองค์แรกที่สร้างขึ้นในพระราชวัง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระอัครมเหสี และพระบรมวงศานุวงศ์ใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีการมงคลและบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ

พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท
อยู่ใกล้กับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทใช้เป็นที่ประทับทรงพระราชพาหนะ และประทับเปลื้องเครื่องในงานพระราชพิธีที่มีขบวนแห่

พระที่นั่งพิมานรัตยา สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๒ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เป็นที่บรรทม และทรงใช้เป็นที่ชุมนุมมหาสมาคมสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพารฝ่ายในเข้ารับพระราชทานเครื่องอิสริยยศ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และนอกจากนั้นยังเป็นที่สรงน้ำพระบรมศพพระบรมวงศานุวงศ์ก่อนที่จะประดิษฐานพระบรมโกศในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
สร้างในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ ใช้เป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะชั้นพระราชาธิบดี หรือชั้นประมุขของรัฐ นอกจากนี้ยังมีหมู่พระที่นั่งสำคัญอื่น ๆ เช่น พระที่นั่งราชกรัณยสภา พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ พระที่นั่งบรมราชสถิตย์มโหฬาร พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ฯลฯ

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว

เป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ตรงมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือของพระบรมมหาราชวัง เป็นที่ประดิษฐานพระมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) และใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีทางศาสนาที่สำคัญ วัดพระแก้วสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๓๒๗ และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑-๙ ตลอดทุกรัชกาล ภายในพระอุโบสถ และระเบียงรอบวัดมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสวยงามมาก สิ่งที่น่าสนใจอื่น ๆ ภายในวัดได้แก่ พระปรางค์ ๘ องค์ พระศรีรัตนเจดีย์ ปราสาทนครวัดจำลอง ปราสาทพระเทพบิดร ฯลฯ

ศาลาเครื่องราชอิสริยยศและเหรียญกษาปณ์ ตั้งอยู่ภายในบริเวณพระบรมมหาราชวังด้านขวามือก่อนถึง ทางเข้าพระราชวังส่วนใน จัดแสดงเหรียญกษาปณ์ และเงินตราที่ใช้ในประเทศไทยรวมทั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของสำนักฝ่ายใน เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐–๑๖.๐๐ น. ค่าเข้าชม ๑๐ บาท ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ส่วนจัดแสดงโทร. ๐ ๒๒๒๒ ๕๘๖๔ ต่อ ๑๘

พระบรมมหาราชวังเปิดให ้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐–๑๕.๓๐ น. ชาวไทยไม่เสียค่าเข้าชม (สำหรับชาวต่างประเทศเสียค่าเข้าชม ๒๕๐บาท ซึ่งรวมบัตรเข้าชมศาลาเครื่องราชอิสริยยศและเหรียญกษาปณ์ ค่าเข้าชมพระที่นั่งวิมานเมฆ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๒๖๒๓ ๕๕๐๐ ต่อ ๓๑๐๐ หรือ ๐ ๒๒๒๔ ๓๒๗๓ หรือ www.palaces.thai.net


วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือที่เรียกว่า วัดโพธิ์

อยู่ที่ถนนมหาราช ข้างพระบรมมหาราชวัง เป็นวัดเก่าแก่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรม วัดนี้ถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๑ ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะวัดโพธิ์ใหม่ทั้งหมด และได้นำเอาตำราวิชาการด้านต่าง ๆ มาจารึกไว้โดยรอบ เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน ถือได้ว่าวัดโพธิ์เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย นอกจากนี้ที่วัดโพธิ์ยังมีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ ก่ออิฐถือปูนปิดทองทั้งองค์ ยาว ๔๖ เมตร สูง ๑๕ เมตร ที่ฝ่าพระบาทแต่ละข้างมีลวดลายประดับมุกเป็นภาพมงคล ๑๐๘ ประการ อันเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของมหาบุรุษตามคติของอินเดีย


วัดอรุณราชวราราม

ตั้งอยู่ที่ถนนอรุณอัมรินทร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกับวัดโพธิ์ ข้ามเรือได้ที่ท่าเตียน เป็นวัดที่มีมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อว่า “วัดแจ้ง” ต่อมาเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามาตั้ง ณ กรุงธนบุรี ได้โปรดเกล้าฯ ให้กำหนดเอาวัดแจ้งเป็นวัดในเขตพระราชฐานใช้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่ ได้อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ วัดนี้ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๒ จึงถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๒ เมื่อบูรณะเสร็จแล้วได้พระราชทานนามว่า “วัดอรุณราชธาราม” ในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีการก่อสร้าง พระปรางค์องค์ใหญ่ซึ่งมีความสูง ๘๒ เมตร กว้าง ๒๓๔ เมตร แต่มาเสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๔ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ วัดอรุณราชวราราม


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี

ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อยตรงข้ามสถานีรถไฟธนบุรี เป็นอู่เก็บเรือที่ใช้ในพระราชพิธีต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ถึงกรุงรัตนโกสินทร์ เรือเหล่านี้เป็นเรือขุดทั้งสิ้น เรือพระราชพิธีที่เก็บอยู่ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงษ์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ และเรือพระที่นั่งอื่น ๆ อีกหลายลำเปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น. (ปิดช่วงเทศกาลวันหยุดปีใหม่และวันหยุดสงกรานต์) อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย ๑๐ บาท ชาวต่างชาติ ๓๐ บาท โทร. ๐ ๒๔๒๔ ๐๐๐๔


สนามหลวง หรือ ทุ่งพระเมรุ

เป็นลานโล่งอยู่ใกล้กับกำแพงพระราชวังหลวง และติดกับกำแพงวังหน้าด้านทิศตะวันออก เมื่อแรกสร้างกรุงเทพฯ บริเวณนี้เป็นที่ทำนาของประชาชน และยังใช้เป็นที่ตั้งพระเมรุเผาศพของเจ้านาย จึงเรียกกันติดปากว่า “ทุ่งพระเมรุ” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่านามนี้ไม่เป็นมงคล จึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกใหม่ว่า “ท้องสนามหลวง” และยกเลิกการทำนาในบริเวณนี้ สืบมาจนในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อกำแพงป้อมปราการของวังหน้าด้านทิศตะวันออกลง และขยายพื้นที่สนามหลวงให้กว้างดังเช่นปัจจุบัน สนามหลวงมีเนื้อที่ ๗๘ ไร่ ใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน พระราชวงศ์ และเจ้านายชั้นสูง รวมทั้งเป็นที่ประกอบพระราชพิธีการกีฬา ทั้งยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกต้นมะขามไว้โดยรอบสนามหลวง จำนวน ๓๖๕ ต้นอีกด้วย


ศาลหลักเมือง

ตั้งอยู่บริเวณใกล้กับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อจะสร้างบ้านเมืองต้องมีการฝังเสา หลักเมือง ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาติไทย รัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีฝังเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ บรรจุดวงชะตาของกรุงเทพฯ ไว้ภายใน เสาหลักเมืองเดิมทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ เส้นผ่าศูนย์กลาง ๗๕ เซนติเมตร สูง ๒๗ เซนติเมตร แต่สร้างใหม่ในรัชกาลที่ ๔ แทนของเดิมที่ชำรุด เป็นไม้ชัยพฤกษ์สูง ๑๐๘ นิ้ว ฐานเป็นแท่นกว้าง ๗๐ นิ้ว ตั้งอยู่ภายในอาคารยอดปรางค์อย่างที่เห็นในปัจจุบัน ภายในศาลหลักเมืองยังมีเทวรูปสำคัญ คือ เทพารักษ์ เจ้าพ่อหอกลอง พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง เจ้าพ่อเจตคุปต์ และพระกาฬไชยศรี


วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม

ตั้งอยู่ติดกับด้านเหนือสวนสราญรมย์ มีเนื้อที่ประมาณ ๒ ไร่เศษ เป็นวัดที่มีเนื้อที่เล็กมาก วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นวัดธรรมยุติ และเป็นไปตามโบราณประเพณีว่า ในราชธานีต้องมีวัดสำคัญ ๓ วัดเสมอ จึงทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อสวนกาแฟหลวง ในรัชกาลที่ ๓ สร้างวัดเล็ก ๆ ขึ้นวัดหนึ่ง พระราชทานนามว่า "วัดราชประดิษฐ์สถิตธรรมยุติการาม" แล้วต่อมาทรงเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม" สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดนี้คือ พระวิหารหลวงซึ่งมีภาพจิตรกรรมฝาฝนังเกี่ยวกับพระราชพิธีสิบสองเดือน ภาพสุริยุปราคา


วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ราชวรมหาวิหาร

ตั้งอยู่ริมสนามหลวง ถนนหน้าพระธาตุ (ใกล้กับมหาวิทยาลัยศิลปากร) เป็นพระอารามหลวงฝ่ายมหานิกายชั้นเอก เดิมชื่อว่า วัดสลัก กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทโปรดให้สร้างขึ้นใหม่พร้อมกับพระบรมมหาราชวัง แล้วพระราชทานนามว่า “วัดนิพพานาราม” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดพระศรีสรรเพชญ์” เคยใช้เป็นที่สังคายนาพระไตรปิฏกหลังจากกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จสวรรคตแล้วพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเปลี่ยนนามพระอารามใหม่ ว่า “วัดมหาธาตุ” ส่วนคำว่า “ยุวราชรังสฤษดิ์” มาเพิ่มในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลังจากที่ทรง ปฏิสังขรณ์แล้ว ภายในวัดมีสิ่งสำคัญคือ พระอุโบสถ พระวิหารพระมณฑป วิหารโพธิ์ลังกา หรือวิหารน้อย ต้นศรีมหาโพธิ์ และมหาวิทยาลัยสงฆ์ชื่อ “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย”

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

เดิมสถานที่นี้เป็นวังหน้าของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับวังหลวง มีพระที่นั่งที่สำคัญ ได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธศวรรย์ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ต่อมาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขึ้นที่ศาลาสหทัยสมาคม เรียกว่า “มิวเซี่ยม” แล้วจึงย้ายมาไว้ที่วังหน้าของกรมพระราชวังบวรฯ ซึ่งบางส่วน กลายเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริเวณข้างเคียงมีโรงเรียนช่างศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ และโรงละครแห่งชาติอยู่ในบริเวณเดียวกัน สิ่งที่น่าสนใจนอกจากพิพิธภัณฑ์แล้วยังมีวัดบวรสถานสุทธาวาส ตั้งอยู่ภายในบริเวณวังหน้าใกล้กับ โรงเรียนช่างศิลป์ วัดนี้เรียกกันว่า “วัดพระแก้ววังหน้า” พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจัดแสดงศิลปโบราณวัตถุต่าง ๆ มากมาย อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทย และชาติเพื่อนบ้าน พิพิธภัณฑ์ฯแห่งนี้ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประจำปี ๒๕๔๕ รางวัลยอดเยี่ยม ประเภทโครงการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว จากผลงาน โครงการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน เพื่อส่งเสริมให้รู้จักคุณค่าของวัฒนธรรมอันเป็นมรดกของชุมชนของตนเพื่อการ ท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์ฯเปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย ๒๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๔๐ บาท ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๗๐, ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๓๓, ๐ ๒๒๒๔ ๑๔๐๒, ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๙๖, ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๓๓


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

อยู่ข้างสะพานพระปิ่นเกล้า ถนนเจ้าฟ้า อดีตเคยเป็นโรงผลิตเหรียญกษาปณ์ของไทยปัจจุบันเป็นศูนย์รวบรวม และจัดแสดงผลงานศิลปะทั้งแบบประเพณีไทยโบราณ และแบบสากลร่วมสมัยของศิลปินที่มีชื่อเสียงของไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีภาพเขียนสีน้ำมันฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ติดตั้งแสดงอยู่ด้วย เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ-อาทิตย์ ปิดวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย ๑๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๓๐ บาท ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๒๒๘๑ ๒๒๒๔ และ ๐ ๒๒๘๒ ๒๖๓๙-๔๐


วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

อยู่ที่ถนนเฟื่องนคร เป็นวัดที่มีเสมาขนาดใหญ่ทำเป็นเสาศิลาสลักรูปเสมาธรรมจักรอยู่บนเสาตั้ง อยู่ที่กำแพงวัดทั้ง ๘ ทิศ บริเวณวัดนี้เดิมเป็นวังของพระบรมวงศ์เธอกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ วัดราชบพิธฯ เริ่มก่อสร้าง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒ (สมัยรัชกาลที่ ๕) เสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๑๓ แล้วนิมนต์พระสงฆ์จากวัดโสมนัสวรวิหารมาจำพรรษาอยู่ พร้อมกับอัญเชิญพระพุทธนิรันตรายมาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ ศิลปกรรมที่สำคัญในวัดได้แก่ บานประตู และหน้าต่างของพระอุโบสถที่มีลายไทยลงรักประดับมุกเป็นรูปดวงตราครื่องราช อิสริยาภรณ์ต่าง ๆ สวยงามมาก


วัดสุทัศน์เทพวราราม

ตั้งอยู่ที่ถนนบำรุงเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีพระราชประสงค์จะสร้างพระวิหารให้ มีขนาดใหญ่เท่ากับพระวิหารวัดพนัญเชิง เป็นศรีสง่าแก่พระนคร ได้พระราชทานนามไว้ว่า “วัดมหาสุทธาวาส” แต่สร้างยังมิทันสำเร็จ ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงดำเนินงานต่อ และพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดสุทัศน์เทพวราราม” สร้างเสร็จสมบูรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่วัดสุทัศน์ไม่มีเจดีย์เหมือนวัดอื่น ๆ เพราะมีสัตตมหาสถานเป็นอุเทสิกเจดีย์ (คือต้นไม้สำคัญในพุทธศาสนา ๗ ชนิด) แทนที่อยู่แล้ว สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดได้แก่ พระศรีศากยมุนี (หลวงพ่อโต) พระประธานของวัดที่ได้ชะลอมาจากวิหารหลวงวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย และบานประตูพระวิหาร ซึ่งเป็นศิลปกรรมชั้นเยี่ยมทางด้านการแกะสลักในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะคู่ที่เป็นฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้นำไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร


เสาชิงช้า

ศาสนาพราหมณ์มีความเกี่ยวพันกับชีวิตชาวไทยอยู่มาก เมื่อสร้างกรุงเทพฯ เสร็จแล้วจึงมีการสร้างโบสถ์พราหมณ์ และเสาชิงช้า เดิมตั้งอยู่ริมถนนบำรุงเมือง ทางจะเลี้ยวไปถนนดินสอ มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๒๗ และย้ายมาตั้งที่ถนนบำรุงเมืองในปัจจุบัน เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ บริษัท หลุยส์ ที.เลียวโนแวนส์ ซึ่งเป็นบริษัทค้าไม้ได้อุทิศซุงไม้สักเพื่อสร้างเสาชิงช้าใหม่ เสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๓ ซ่อมใหม่เมื่อพ.ศ. ๒๕๐๒ มีส่วนสูงทั้งหมด ๒๑.๑๒ เมตร เสาชิงช้านี้ใช้ประกอบพิธีตรียัมพวายหรือพิธีโล้ชิงช้าในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งจัดให้มีในเดือนยี่ของทุก ๆ ปี และยกเลิกไปเมื่อพ.ศ. ๒๔๗๘


อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

อยู่ที่ถนนราชดำเนิน สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย
์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ อนุสาวรีย์นี้ออกแบบโดยศาสตราจารย์ศิลป
พีระศรี เริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ตรงกลางประดิษฐานพานรัฐธรรมนูญ
มีความสูง ๓ เมตร หนัก ๔ ตัน


วัดบวรนิเวศวิหาร

อยู่ที่ถนนพระสุเมรุ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยมีกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพเป็นแม่กองก่อสร้างเคยเป็นที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔, ๖, ๗ และ ๙ เมื่อคราวทรงผนวชสิ่งที่น่าชมในวัดนี้ได้แก่ พระพุทธชินสีห์ พระรูปสมเด็จพระสมณเจ้า ๒ องค์ คือ สมเด็จกรมพระยาปวเสศวิทยาลงกรณ์ และสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส นอกจากนี้ยังมีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือขรัวอินโข่ง ตำหนักปั้นหยา และพระศาสดา พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ซึ่งพระมหาธรรมราชาลิไททรงสร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๐


วัดราชนัดดาราม

อยู่ที่ถนนมหาไชย สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๙ เป็นวัดที่รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี มีเจ้าพระยายมราชเป็นแม่กองออกแบบ เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์เป็นแม่กองสร้างโลหะปราสาท วัดนี้แปลกกว่าวัดอื่น คือ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างธรรมเจดีย์ปราสาทแทนการสร้างพระเจดีย์ (นับเป็นแห่งที่ ๓ ของโลก) มีความสูง ๓๖ เมตร ประกอบด้วย เจดีย์ล้อมรอบ ๓๗ องค์ เพื่อให้เท่ากับ “โพธิปักขียธรรม ๓๗ ประการ” ปัจจุบันโลหะปราสาทแห่งนี้เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในโลก เนื่องจากโลหะปราสาทที่ประเทศอินเดีย และศรีลังกาได้ปรักหักพังไปหมดแล้ว


พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตั้งอยู่บริเวณพลับพลาพระราชพิธี มุมถนน ราชดำเนิน บริเวณหน้าวัดราชนัดดาราม สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยกรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการ เป็นพระรูปหล่อด้วยสำริดประทับบนพระที่นั่งสูงขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง ภายในบริเวณตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับ มีพลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อใช้รับราชอาคันตุกะ และศาลาราย ๓ หลัง


วัดสระเกศ (ภูเขาทอง)

อยู่นอกกำแพงเมือง ริมคลองมหานาค ตรงที่บรรจบกับคลองบางลำพู เดิมเป็นวัดเก่าชื่อว่า "วัดสะแก"
ได้รับการสถาปนาขึ้นใหม่ทั้งพระอารามในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลก และพระราชทานนามว่า "วัดสระเกศ" ส่วนเจดีย์ภูเขาทองนั้นเริ่มสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่ หัวโดยทรงเลียนแบบมาจากภูเขาทองในสมัยกรุงศรีอยุธยา
แล้วเสร็จในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รับพระราชทานนาม ว่า “สุวรรณบรรพต” มีความสูง ๗๗ เมตร บนยอดสุวรรณบรรพตเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดค้นพบ ที่เมืองกบิลพัสดุ์ และพิสูจน์ได้ว่าเป็นของพระสมณโคดมซึ่งเป็นส่วนแบ่งของพระราชวงศ์ศากยราช เพราะมีคำจารึกอยู่ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ขณะนั้นกำลังทรงผนวชอยู่ที่ประเทศอินเดีย ได้ส่งพระบรมสารีริกธาตุเข้ามาถวายในฐานะที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็น กษัตริย์เพียงพระองค์เดียวที่เป็นพุทธมามกะอยู่ในขณะนั้น


พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พิพิธภัณฑ์นี้ตั้งอยู่ที่อาคารอนุรักษ์กรมโยธาธิการ เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เขตพระนคร ตึกหลังนี้เป็นอาคารสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ ๖-๗ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2449 สถาบันพระปกเกล้าฯ ได้บูรณะเพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ ของรัชกาลที่ ๗ หาดูได้ยาก รวมทั้งจัดแสดงภาพถ่าย เอกสาร และพระราชประวัติของรัชกาลที่ ๗ องค์ปฐมกษัตริย์ระบบประชาธิปไตยของไทย เป็นพิพิธภัณฑ์พระมหากษัตริย์แห่งแรกที่สมบูรณ์แบบ นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการอธิบายและนำชม ภายในจัดแสดงเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่การสืบราชสันตติวงศ์ พระราชประวัติก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ พระราชกรณียกิจ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง การพระราชทานรัฐธรรมนูญ เครื่องราชภัณฑ์ และพระราชนิยมส่วนพระองค์ รวมทั้งพระราชประวัติหลังสละราชสมบัติ และเสด็จสวรรคต ณ ประเทศอังกฤษ นอกจากนี้ยังมีศาลาเฉลิมกรุงจำลอง จัดฉายภาพยนต์เก่าให้ชม พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมวันอังคาร-วันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐–๑๖.๐๐ น. ค่าเข้าชม ๒๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๔๐ บาท วันหยุดราชการไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. ๐ ๒๒๘๐ ๓๔๑๓–๑๔, ๐ ๒๒๘๐ ๓๔๔๕–๔๖ www.kpi.ac.th/museum


พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ประดิษฐานอยู่ ณ เชิงสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ ฝั่งพระนคร สร้างขึ้นเมื่องานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๑๕๐ ปี เมื่อพ.ศ. ๒๔๗๕ พระองค์ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ในมหาจักรีบรมราชวงศ์ และผู้สถาปนากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของไทย ประสูติ ณ กรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๗๙ เสด็จขึ้นเสวยราชย์ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ อยู่ในราชสมบัตินาน ๒๗ ปี เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๓๕๒


พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช

อยู่บริเวณวงเวียนใหญ่ ถนนประชาธิปก ประดิษฐานอยู่ในลักษณะทรงม้า พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ ความสูงจากเท้าม้าถึงยอดพระมาลา ๙ เมตร ฐานอนุสาวรีย์เป็นแท่นคอนกรีตเสริมเหล็กสูง ๘.๙๐ เมตร กว้าง ๑.๘๐ เมตร ยาว ๓.๙๐ เมตร สองด้านของแท่นฐาน มีรูปปั้นนูนด้านละ ๒ กรอบรูป ถ่ายทอดภาพประวัติศาสตร์ ๔ กรอบ คือ รูปประชาชนทุกวัยแสดงอาการโศกเศร้าหมดความหวังเมื่อกรุงแตก, รูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเกลี้ยกล่อมให้ประชาชนรวมกำลังกันต่อสู้กู้อิสรภาพ, รูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงต่อสู้ข้าศึก, รูปประชาชนพลเมืองมีความสุขที่กอบกู้อิสรภาพได้
ได้ทำการเปิดเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๗ และมีพิธีสักการะพระบรมรูป ในวันที่ ๒๘ ธันวาคม ของทุกปี


อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ตั้งอยู่ที่ถนนสมเด็จเจ้าพระยา ซอย ๓ เขตคลองสาน จัดเป็นสวนสาธารณะ และพิพิธภัณฑ์ ในบริเวณชุมชนวัดอนงคารามซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรม ราชชนนี เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ภายในมีอาคารพิพิธภัณฑ์ ๒ หลัง จัดแสดงเกี่ยวกับพระราชประวัติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประวัติชุมชนวัดอนงคาราม พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และงานฝีพระหัตถ์ของสมเด็จย่า อุทยานฯ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๖.๐๐–๑๘.๐๐ น. และส่วนพิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมเวลา ๐๙.๐๐–๑๖.๐๐ น.(ปิดวันหยุดนักขัตฤกษ์) โทร. ๐ ๒๔๓๗ ๗๗๙๙, ๐ ๒๔๓๙ ๐๙๐๒


วัดราชบูรณะ

ตั้งอยู่เชิงสะพานพุทธฝั่งกรุงเทพฯ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าวัดเลียบ สร้างตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายโดยพ่อค้าชาวจีน วัดนี้เป็นหนึ่งในจำนวนวัดเอกประจำเมือง ๓ วัด ได้แก่ วัดราชบูรณะ วัดราชประดิษฐ์ และวัดมหาธาตุ วัดนี้ได้รับการบูรณะมาตลอดตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-๗ เว้นรัชกาลที่ ๖ รัชกาลเดียว ในคราวสงครามมหาเอเซียบูรพา สถานที่สำคัญ ๆ ของวัดถูกระเบิดพังทลาย โดยเฉพาะพระอุโบสถที่มีภาพจิตรกรรม ฝาผนังฝีมือขรัวอินโข่งถูกระเบิดทำลายจนหมด ต่อมาจึงได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ดังที่เห็นในปัจจุบัน


วัดอินทรวิหาร

ตั้งอยู่ที่บางขุนพรหม ถนนวิสุทธิกษัตริย์ เขตพระนคร วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายประมาณ พ.ศ.๒๒๙๕ เดิมชื่อวัดบางขุนพรหม ซุ้มประตูทางเข้าวัด ๓ ซุ้ม เป็นศิลปะทรงไทย เรือนยอดตรงกลางเป็นรูปพระมหาบุรุษมหาภิเนษกรมณ์ ณ ฝั่งแม่น้ำอโนมา ด้านขวาเป็นรูปพระอินทร์ ด้านซ้ายเป็นรูปพระพรหม สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดได้แก่ “พระพุทธศรีอริยเมตไตรย” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ สูง ๓๒ เมตร กว้าง ๑๐ เมตร ๒๔ นิ้ว สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บนยอดเกศองค์หลวงพ่อโตบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จากประเทศศรีลังกา จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถเป็นภาพชีวประวัติของสมเด็จพระพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี) ภาพสิ่งก่อสร้างต่างๆของสมเด็จฯ ภาพต้นไม้ ด้านล่างพระอุโบสถเป็นพิพิธภัณฑ์ของเก่า ศาลาการเปรียญประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี) นอกจากนี้ยังมี มณฑป ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง หอระฆังหลังคาทรงจัตุรมุข พระสังกัจจายน์ พระแม่กวนอิมอวโลกิเตศวร พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ต้นโพธิ์ไทย โพธิ์ลังกาและโพธิ์อินเดีย ซึ่งหาดูได้ยากในปัจจุบัน เปิดให้เข้าชมทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม


พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย

ตั้งอยู่ที่ตำหนักวังบางขุนพรหม ภายในบริเวณเดียวกันกับธนาคารแห่งประเทศไทย จัดแสดงสื่อในการแลกเปลี่ยนตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยแบ่งออกเป็นห้องต่าง ๆ อาทิ ห้องเงินตราโบราณ ห้องเงินพดด้วง ห้องกษาปณ์ไทย ห้องธนบัตรไทย ห้องทองตรา ห้อง ๕๐ ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น เปิดให้เข้าชมในวันจันทร์-ศุกร์ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันหยุดธนาคาร ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ กรุณาติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่ โทร. ๐ ๒๒๘๓ ๕๒๘๖, ๐ ๒๒๘๓ ๕๒๖๕ และ ๐ ๒๒๘๓ ๖๗๒๓


วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

ตั้งอยู่ที่ถนนศรีอยุธยา เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้น โดยมีสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้างศิลปะสถาปัตยกรรมไทยโบราณที่มีความวิจิตรงดงามและเป็นระเบียบ ได้รับการยกย่องว่าเป็นวัดที่มีการวางแปลนแผนผังที่ดีที่สุดวัดหนึ่ง ทั้งยังประดับด้วยหินอ่อนที่ดีที่สุดจากประเทศอิตาลี เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศในชื่อ “Marble Temple” พระประธานของวัดจำลองมาจากพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก บริเวณพระระเบียงด้านหลังพระอุโบสถเรียงรายด้วยพระพุทธรูปโบราณปางต่าง ๆ ๕๒ องค์ ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงรวบรวมมาจากหัวเมืองต่าง ๆ และต่างประเทศ


พระบรมรูปทรงม้า

สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ ด้วยเงินที่ประชาชนได้เรี่ยไรสมทบทุน โดยจ้างนายช่างชาวฝรั่งเศสแห่งบริษัท ซุซ เซอรเฟรส ฟองเดอร์ หล่อมาจากกรุงปารีส ส่วนเงินที่เหลือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำไปใช้สร้าง มหาวิทยาลัยขึ้น มีนามตามพระปรมาภิไธยว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”


พระที่นั่งอนันตสมาคม

สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นอาคารหินอ่อนแบบเรเนอซองส์ ของประเทศอิตาลี ทั้งนี้มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่รับรองแขกเมือง และประชุมปรึกษาราชการแผ่นดิน พระที่นั่งนี้สร้างเสร็จในสมัยรัชกาลที่ ๖ บนเพดานโดมของพระที่นั่งมีภาพเขียนเฟรสโกที่สวยงามมาก เป็นภาพเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑-๖ แห่งราชวงศ์จักรี พระที่นั่ง อนันตสมาคมใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีรัฐพิธีต่าง ๆ และเคยใช้เป็นที่ประชุมรัฐสภา ภายหลังจึงได้ย้ายการประชุมมายังรัฐสภาใหม่ซึ่งอยู่ด้านหลังของพระที่นั่งนี้


พิพิธภัณฑ์พระที่นั่งวิมานเมฆ

ตั้งอยู่บริเวณหลังพระที่นั่งอนันตสมาคม ในเขตพระราชวังดุสิต เป็นพระที่นั่งที่สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง เดิมตั้งอยู่บนเกาะสีชัง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ และได้ชะลอมาไว้ ณ สถานที่ตั้งปัจจุบัน เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๔๔ ประกอบด้วยห้องต่าง ๆ ๘๑ ห้อง มีคลองล้อมรอบตัวอาคาร อาทิ คลองคาบแผ่นกระจก คลองรางเงิน อ่างหยก ภายในบริเวณร่มรื่น สวยงามมาก


พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย

ตั้งอยู่ในสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนราชสีมา เขตดุสิต (ตรงข้ามสถาบันราชภัฏสวนดุสิต) เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกที่สร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เป็นศูนย์กลางเรียนรู้ แหล่งศึกษาค้นคว้า ตลอดจนเป็นสถานที่รวบรวมเอกสาร หลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆที่มีคุณค่าในวงการหนังสือพิมพ์ไทยในอดีตถึง ปัจจุบัน โดยจัดแสดงด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทันสมัย ส่วนแรกนำเสนอเกี่ยวกับการทำหนังสือพิมพ์ในอดีตโดยจัดแสดงเป็นหุ่นขี้ผึ้ง จำลองบรรยากาศสำนักงานหนังสือพิมพ์การทำงานของนักข่าวในสมัยก่อน ถัดมาแสดงให้เห็นบทบาทของหนังสือพิมพ์ด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม และประวัติความเป็นมาของผู้มีบทบาทในวงการหนังสือพิมพ์ อาทิ หมอบรัดเลย์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, กุหลาบ สายประดิษฐ์, มาลัย ชูพินิจ, อิศรา อมันตกุล มุมหนึ่งประดิษฐานพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ผู้ทรงริเริ่มกิจการการพิมพ์ของคนไทยให้มีการพิมพ์ใบประกาศและเป็น บรรณาธิการในหนังสือราชกิจจานุเบกษาซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของคนไทย และพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ผู้ทรงเป็นกษัตริย์นักหนังสือพิมพ์ ทรงโปรดให้ออกหนังสือพิมพ์เพื่อแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี พิพิธภัณฑ์ยังมีส่วนนิทรรศการเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ และมีบริการห้องสมุดสำหรับผู้สนใจค้นคว้าข้อมูลหลักฐานต่างๆ พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐–๑๗.๐๐ น.กรุณาติดต่อเจ้าหน้าที่ก่อนเข้าชม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. ๐ ๒๖๖๙ ๗๑๒๔-๖ โทรสาร ๐ ๒๒๔๑ ๕๙๒๙ หรือ www.thaipressasso.com


อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

ตั้งอยู่ที่ถนนพหลโยธิน รัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามได้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่เสียชีวิตไปในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เรื่องการปรับปรุงพรมแดนไทยกับอินโดจีนใหม่ กรณีพิพาทยุติลงด้วยการเจรจาประนีประนอมของทั้งสองฝ่าย จากเหตุการณ์ในครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต ๕๙ คน รัฐบาลจึงสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิขึ้นเพื่อเป็นเกียรติ และเทิดทูนคุณงามความดีของวีรชนที่มีความกล้าหาญและเสียสละ


พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร

ตั้งอยู่ที่ ชั้น ๒ อาคารสำนักงานไปรษณีย์นครหลวงเหนือ (หลังไปรษณีย์สามเสนใน) จัดแสดงแสตมป์ไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ และแสตมป์ของประเทศสมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์ นอกจากนี้ยังมีห้องสมุดจัดเก็บหนังสือรวบรวมความรู้เรื่องการไปรษณีย์ทั้งภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ ในบริเวณเดียวกันยังมีการจำหน่ายแสตมป์ และอุปกรณ์เพื่อการสะสมแสตมป์ด้วย เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๒๒๗๑ ๒๔๓๙


พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

ตั้งอยู่ในอาคารที่ทำการเก่าของสหภาพแรงงานการรถไฟมักกะสัน ถนนนิคมรถไฟมักกะสัน เขตราชเทวี จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของประวัติศาสตร์แรงงานไทย แบ่งออกเป็น ๗ ห้อง ห้องที่ ๑ แรงงานบังคับไพร่-ทาส คือ ฐานของสังคมไทยโบราณ จัดแสดงเรื่องราวของแรงงานไทยตั้งแต่ครั้งโบราณ ห้องที่ ๒ กุฎีจีนแรงงานรับจ้างรุ่นแรก บอกเล่าสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา ห้องที่ ๓ แรงงานในกระบวนการปฏิรูปประเทศ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ห้องที่ ๔ กรรมกรกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ สภาพของแรงงานก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ห้องที่ ๕ จากสงครามโลกถึงสงครามเย็น ชีวิตแรงงานไทยภายใต้สภาวการณ์ที่สำคัญสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ และสงครามเย็น ห้องที่ ๖ จาก ๑๔ ตุลาถึงวิกฤตเศรษฐกิจ ชีวิตคนงานในช่วงประชาธิปไตยเบ่งบาน เรื่องราวของแรงงานสตรี แรงงานเด็ก คนขับรถบรรทุก นักมวย ห้องที่ ๗ ห้องศิลปวัฒนธรรมกรรมกรจิตร ภูมิศักดิ์ เพื่อเป็นเกียรติแก่จิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชนนักคิดคนสำคัญ แต่ละห้องใช้รูปแบบการจัดแสดงมีสื่ออุปกรณ์ต่างๆเช่น โทรทัศน์ สไลด์ คอมพิวเตอร์ ทำให้น่าสนใจ เข้าใจง่าย เกิดความเพลิดเพลินในการชม นอกจากนี้ยังมีบริการห้องสมุด หนังสือต่างๆและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้แรงงาน มีศูนย์อบรมคอมพิวเตอร์สำหรับผู้ใช้แรงงาน เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ-อาทิตย์ ปิดวันจันทร์-อังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐–๑๖.๓๐ น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม (หากเข้าชมเป็นหมู่คณะกรุณาติดต่อล่วงหน้า) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. ๐ ๒๒๕๑ ๓๑๗๓


บ้านตุ๊กตาบางกอกดอลล์และตุ๊กตานานาชาติ

ตั้งอยู่บ้านเลขที่ ๘๕ ซอยแยกรัชฏภัณฑ์ (ซอยหมอเหล็ง) ถนนราชปรารภ ก่อตั้งโดยคุณหญิงทองก้อน จันทวิมล เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๙๙ หลังจากกลับจากเรียนประดิษฐ์ตุ๊กตาจากโรงเรียนโอซาวาดอลล์ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อประดิษฐ์ตุ๊กตาของไทยออกเผยแพร่ ตุ๊กตาของที่นี่เป็นที่รู้จักกันดีของนานาชาติ ตลอดจนนักสะสมตุ๊กตาทั้งหลาย เนื่องมาจากความสวยงามของตุ๊กตาที่ประดิษฐ์ออกมามีความเป็นเอกลักษณ์แบบไทย เคยได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดตุ๊กตาพื้นเมืองนานาชาติครั้งที่ ๓ ประจำปีพ.ศ. ๒๕๒๑ ที่ประเทศโปแลนด์ สถานที่แห่งนี้เป็นทั้งสถานที่จัดแสดงและโรงงานผลิตตุ๊กตาชนิดต่างๆ การผลิตจะทำด้วยมือทุกขั้นตอนโดยใช้วัสดุภายในประเทศเป็นหลัก ตุ๊กตาที่ผลิตออกมามีด้วยกันหลายประเภท อาทิเช่น ตุ๊กตาโขน ตุ๊กตาชาวเขาเผ่าต่างๆ ตุ๊กตาแสดงถึงชีวิตตามชนบทของคนไทยตลอดจนหัวโขนย่อส่วน นอกจากนี้แล้วที่มุมหนึ่งภายในโรงงานเป็นที่จัดแสดงตุ๊กตาที่ได้มาจากทั่ว โลก จำนวนประมาณ ๔๐๐ ตัวซึ่งเป็นผลจากการใช้เวลาสะสมเป็นเวลานานปี เปิดให้เข้าชมวันจันทร์-เสาร์ เว้นวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐-๑๗.๐๐ น. โดยไม่เก็บค่าเข้าชม โทร. ๐ ๒๒๔๕ ๓๐๐๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น